WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

วัดเขาบันไดอิฐ  
ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 และเลี้ยวขวาเข้าทางหลวง 3171 ห่างจากเขาวังประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นเขาขนาดย่อมมียอดสูง 121 เมตร วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เป็นสำนักวิปัสสนากรรมฐานที่มีชื่อเสียง สมเด็จพระเจ้าเสือเคยเสด็จมาฝากตัวเป็นศิษย์ของวัดนี้ ในอดีตวัดเขาบันไดอิฐมีชื่อเสียงมากทางวิทยาคมในช่วงที่หลวงพ่อแดง พระเกจิชื่อดังของจังหวัดเพชรบุรีเป็นเจ้าอาวาส ทำให้มีผู้ให้ความเคารพและเดินทางมาสักการะเป็นจำนวนมาก วัดนี้เป็นวัดที่มีชื่อเสียงทางด้านความงามของศิลปะปูนปั้นชั้นครูที่ฝากผล งานไว้เหนือหน้าบันพระอุโบสถ นอกจากนั้นบริเวณวัด ยังมีถ้ำให้ชมอีกหลายแห่ง ถ้ำแรก คือ “ถ้ำประทุน” มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ตามผนังถ้ำทั้งสองด้าน ลึกเข้าไปจะเป็นถ้ำ “พระเจ้าเสือ” ที่ชื่อเช่นนี้เพราะมีเรื่องเล่ากันมาว่า พระเจ้าเสือได้เสด็จมาหาอาจารย์แสง และได้ถวายพระพุทธรูปยืนปางห้ามสมุทรประดิษฐานไว้ในถ้ำแห่งนี้ ถัดจากถ้ำนี้เข้าไปทางด้านใต้จะมีถ้ำพระพุทธไสยาสน์ จะมีพระนอนองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ และตรงซอกผนังถ้ำมีประทุนเรือทำด้วยไม้เก่าแก่มาก เป็นประทุนเรือที่พระเจ้าเสือถวายอาจารย์แสง นอกจากถ้ำทั้งสามนี้แล้ว ยังมีถ้ำอื่น ๆ เช่น ถ้ำพระอาทิตย์ ถ้ำพระจันทร์ ถ้ำสว่างอารมณ์ ถ้ำช้างเผือก และถ้ำดุ๊คซึ่งมีชื่อตามดุ๊คโยฮันฮัลเบิร์ต ผู้สำเร็จราชการเมืองปอร์นสวิค (Braunschweig) ประเทศเยอรมัน ผู้เคยมาเยือนเพชรบุรีและมาเที่ยวถ้ำแห่งนี้

วัดใหญ่สุวรรณาราม  

อยู่ที่ถนนพงษ์สุริยา ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 กิโลเมตร วัดนี้สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา และได้มีการบูรณะในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในวัดมีศาลาการเปรียญ เป็นพระตำหนักไม้สักทั้งหลังที่พระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา พระราชทานแด่พระสังฆราชชาวเพชรบุรี ศาลาการเปรียญนี้มีการแกะสลักไม้ที่สวยงาม โดยเฉพาะบานประตูสลักลายก้านขดปิดทอง และยังมีธรรมาสน์เทศน์ ซึ่งแกะสลักลงรักปิดทอง รูปทรงเป็นบุษบกที่งดงามและสมบูรณ์ บนผนังภายในพระอุโบสถ มีภาพเขียนเทพชุมนุม อายุกว่า 300 ปี สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าชมศิลปกรรมในพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ ต้องไปติดต่อขอกุญแจที่เจ้าอาวาส 


วัดถ้ำเขาย้อย

ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาย้อย ใกล้ที่ว่าการอำเภอเขาย้อย ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 อยู่ก่อนถึงตัวเมืองเพชรบุรีประมาณ 22 กิโลเมตร ภายในถ้ำนี้มีพระพุทธรูปใหญ่น้อยหลายปางประดิษฐานอยู่ คล้ายกับถ้ำเขาหลวงและวัดถ้ำเขาบันไดอิฐที่อยู่ในเขตอำเภอเมืองเพชรบุรี ตามประวัติเล่าว่าพระพุทธรูปเหล่านี้มีมานานแล้ว ต่อมาพระครูอ่อนวัดท้ายตลาดมาบูรณะใหม่ และมีเกร็ดประวัติศาสตร์เล่ากันว่าสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้า อยู่หัวยังทรงผนวชอยู่นั้น พระองค์ได้เสด็จธุดงค์มาปักกลดวิปัสสนาที่หน้าเขาย้อย แล้วทรงย้ายขึ้นมาประทับนั่งกรรมฐานอยู่ในถ้ำเขาย้อยหลายคืน 


ถ้ำเขาหลวง  

อยู่บนเขาหลวง ห่างจากเขาวังประมาณ 5 กิโลเมตร จากเชิงเขามีบันไดคอนกรีตนำสู่ทางลงถ้ำ เขาหลวงเป็นภูเขาขนาดเล็กมีความสูง 92 เมตร มีหินงอกหินย้อยสวยงาม ภายในมีปล่องที่แสงอาทิตย์สามารถส่องเข้ามาภายในถ้ำได้ทำให้สวยงามยิ่งขึ้น ถ้ำเขาหลวงถือเป็นถ้ำใหญ่และสำคัญที่สุดในเมืองเพชร ภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์อันสำคัญยิ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเคยเสด็จประพาสมาและทรงโปรดถ้ำแห่งนี้มาก ทั้งยังทรงบูรณะพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณภายในถ้ำนี้หลายองค์ด้วย กัน และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างบันไดหินลงไปในถ้ำ

ตรงทางเข้าเชิงเขาหลวงด้านขวามือมีวัดใหญ่อยู่วัดหนึ่ง ชาวเมืองเรียกว่า วัดถ้ำแกลบ ปัจจุบันชื่อ “วัดบุญทวี” ซึ่งเป็นวัดใหญ่ น่าชมมาก เพราะท่านเจ้าอาวาสวัดนี้เป็นช่าง ได้ออกแบบและสร้างศาลาการเปรียญที่ใหญ่โต ประตูโบสถ์เป็นไม้สลักลายสวยงามมาก วัดถ้ำแกลบนี้มีตำนานเล่าว่า ปากถ้ำแกลบที่วัดนี้คือ ทางเข้าสู่เมืองลับแลอันเป็นเมืองที่มีแต่หญิงสาวทั้งนั้น แต่ก็เป็นเพียงตำนานของชาวเมืองเพชรนับร้อยปีมาแล้ว


วัดเขาตะเครา  

ตั้งอยู่ตำบลบางครก จากตัวเมืองเพชรบุรี ข้ามทางรถไฟ บริเวณใกล้กับสถานีรถไฟเพชรบุรี ใช้ทางหลวงหมายเลข 3176 ระยะทาง 10 กิโลเมตร จะเห็นซุ้มประตูทางเข้าวัดขนาดใหญ่อยู่ทางซ้ายมือ เลี้ยวซ้ายไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร วัดนี้เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเขาตะเครา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สูง 29 นิ้ว หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว มีประวัติว่าหลวงพ่อเขาตะเครา เป็นพระพี่พระน้อง 3 องค์กับหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา หลวงพ่อบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม บางตำราว่าเป็นพี่น้องกันถึง 5 องค์ คือ หลวงพ่อบางพลีใหญ่ และหลวงพ่อวัดไร่ขิงที่นครปฐมด้วย ประวัติของพระพุทธรูปองค์นี้เริ่มปลายสมัยอยุธยา ขณะที่ชาวบ้านแหลมเมืองเพชรหนีพม่าไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ปากน้ำแม่กลอง ซึ่งได้กลายเป็นบรรพบุรุษของชาวสมุทรสงครามในทุกวันนี้ วันหนึ่งชาวประมงบ้านแหลมไปตีอวนที่ปากอ่าว ได้พระพุทธรูปขึ้นมา 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระยืนปางอุ้มบาตร อีกองค์หนึ่งเป็นพระปางมารวิชัย ชาวบ้านแหลมนำพระยืนไปประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม ปัจจุบันนี้คือ วัดเพชรสมุทรวิหาร กลางเมืองสมุทรสงคราม ส่วนอีกองค์มอบให้ญาติชาวบางตะบูนนำมาประดิษฐานที่ วัดเขาตะเครา อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี 


วัดเนรัญชราราม  

ตั้งอยู่ริมทะเลบริเวณด้านทิศเหนือของหาดชะอำ ชื่อวัด เนรัญชราราม ได้รับการตั้งให้สอดคล้องกับชื่อวังมฤคทายวันซึ่งสร้างโดยรัชกาลที่ 6  ตามเรื่องราวในพุทธประวัติเกี่ยวกับแม่น้ำเนรัญชราและป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
สิ่งสำคัญที่น่าสนใจในวัดได้แก่ พระอุโบสถลักษณะทรงอินเดีย ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นในประเทศไทย เป็นพระอุโบสถที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2377  พระประธานในพระอุโบสถ คือ หลวงพ่อทอง สร้างเมื่อปี 2478 เป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์
บริเวณลานกลางแจ้งมี พระพุทธรูปปิดทวารทั้ง 9 ที่ไม่เหมือนที่ใดในประเทศไทย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2527 เพื่อให้ประชาชนที่มาเที่ยวชะอำได้มีสิ่งสักการะ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นสีขาว นั่งปิดทวารทั้ง 9  คือ ตาสอง จมูกสอง หูสอง ปากหนึ่ง ทวารหนัก ทวารเบา รวมเป็น 9 เป็นปริศนาธรรมซึ่งหมายความถึงการตัดกิเลสโดยวิธีปิดช่องทางการเข้าและออก ของกิเลสหรือสิ่งไม่ดีงามทั้งหลาย
นอกจากนี้ยังมีศาลาจตุรมุขประดิษฐานรอยพระพุทธบาททองเหลือง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2491 และรูปหล่อพระครูสุนทรวิโรจน์ (สงวน ชาคโร) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้เป็นระยะเวลานานถึง 52 ปี และได้สร้างความเจริญให้แก่วัดและท้องถิ่นเป็นอันมาก
"  


วัดกำแพงแลง  
อยู่ที่ถนนพระทรง ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้เดิมเป็นเทวสถานในสมัยขอม สร้างตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ต่อมาเมื่ออิทธิพลของศาสนาพุทธได้แผ่ขยายเข้ามาในบริเวณนั้น จึงได้ดัดแปลงเทวสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนานิกายมหายาน และหินยานตามลำดับ เทวสถานที่สร้างขึ้นเดิมมีปรางค์ 5 หลัง ทำด้วยศิลาแลง ปัจจุบันเหลือเพียง 4 หลัง สันนิษฐานว่าปรางค์แต่ละหลังใช้เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป เช่น พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระนางอุมา เพราะเมื่อ พ.ศ. 2499 มีผู้ขุดพบรูปสลักของพระนางอุมาในปรางค์องค์หนึ่งที่พังลง วัดนี้เมื่อดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาแล้วได้สร้างพระอุโบสถขึ้น โดยมิได้เปลี่ยนสภาพเดิมไปมากนัก จะเห็นได้ว่ารอบ ๆ วัด ยังมีกำแพงที่ก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบอยู่

วัดต้นสน  
ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านแหลม เป็นวัดสำคัญของชาวบ้านแหลม เป็นศูนย์รวมในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ของชุมชนบ้านแหลม  มีสิ่งสำคัญอันเป็นมิ่งขวัญของชาวบ้านแหลม คือหลวงพ่อสัมฤทธิ์  นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ซึ่งแปลกกว่าที่อื่น เนื่องจากด้านหลังมีรูปปั้นหลวงพ่อทวดยืนเกือบชิดกัน บริเวณหน้าวัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่น้ำเพชรบุรี มีสะพานคอนกรีตสูงทอดข้ามแม่น้ำ มีศาลาไทยริมน้ำสำหรับนั่งพักผ่อน มองเห็นทิวทัศน์สวยงามของหมู่บ้านชาวประมงมีเรือจอดอยู่เรียงรายและมีนก นางแอ่นมาทำรังอยู่ในวัดและโดยรอบ จึงมีการทำธุรกิจเก็บรังนก โดยการสร้างตึกสูงสำหรับให้นกนางแอ่นมาอาศัย

วัดพระนอน  

ตั้งอยู่เชิงเขาวังด้านทิศใต้ ถนนคีรีรัฐยา ไม่ไกลจากศาลหลักเมือง เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่มีลักษณะงดงามและมีขนาดใหญ่ สร้างด้วยอิฐตลอดทั้งองค์และลงรักปิดทอง ฝีมือช่างสมัยอยุธยา 


 

 
 
 
 
 
Swiss Sheep Farm
พระราชวังบ้านปืน
หาดปึกเตียน
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง)
พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน